ศูนย์นวัตกรรมจัดการขยะเชื้อเพลิง ADF


ปัญหาของการผลิต RDF ก็คือ ตลาด ซึ่งมีผู้ซื้อน้อยราย ความต้องการใช้ RDF น้อยกว่าปริมาณที่มีการผลิต อีกทั้งจุดรับซื้อมีเพียงไม่กี่จุดทั่วประเทศ เท่าที่มีโรงงานผลิตปูนซีเมนต์จากการที่มีการผลิต RDF จากบ่อฝังกลบและจากขยะใหม่ในปริมาณมาก RDF จึงล้นตลาดจนราคาซื้อขายไม่คุ้มค่าการลงทุน อีกทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงขยะส่วนใหญ่ก็มีภาระในการจัดการขยะตามสัญญากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อราคาตํ่ามากๆ ทำให้เชื้อเพลิง RDF ถูกนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ อย่างไม่เป็นทางการ ดังนั้น สมาคมการค้าพลังงานขยะ จึงได้มีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้มีการสนับสนุนยกระดับเชื้อเพลิงขยะให้เป็นเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดธุรกิจการค้าที่มั่นคงและเป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินต่างๆ พร้อมกันนี้ทางสมาคมการค้าพลังงานขยะ ยังได้มีเสนอแนวทางการจัดประเภทของ RDF ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของประเทศไทย เพื่อสะดวกต่อการส่งเสริมของภาครัฐและสามารถกำหนดราคาซื้อขายได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย Refuse Derived Fuel : RDF โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า เชื้อเพลิงขยะ แต่สำหรับคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนช. เรียกว่า ก้อนเชื้อเพลิงขยะ และได้มีการพิจารณาศึกษา RDF ซึ่งเป็นประโยชน์กับการจัดการขยะชุมชน รวมทั้งขยะอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ขยะอันตราย ซึ่งมีการทิ้งปะปนกันจนแยกออกได้ยาก จึงขออนุญาตสรุปเนื้อหาของผลการศึกษาจากคณะกรรมาธิการพร้อมแนวคิดจากประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางการจัดการขยะแบบไทยๆ ดังนี้

  1. การผลิต RDF เป็นแนวทางที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพื้นยุโรป เช่น เยอรมนี สวีเดน ฟินแลนด์ ฯลฯ
  2. ทั้งขยะใหม่และขยะเก่าที่ตกค้างในบ่อฝังกลบ สามารถนำมาผลิต RDF ได้ดี
  3. การผลิต RDF สามารถทำได้โดยเทคโนโลยีคนไทย เครื่องจักรผลิตในไทย ไปจนถึงการนำเข้าเครื่องจักรคุณภาพสูงจากต่างประเทศในกรณีที่ต้องการผลิตจำนวนมากๆ ตั้งแต่ 100 ตันต่อวันขึ้นไป
  4. เมื่อปี พ.ศ. 2557 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ศึกษาพื้นที่ศักยภาพเบื้องต้นว่า มีการผลิต RDF ไม่น้อยกว่า 90 แห่งทั่วประเทศ
  5. จากการสำรวจพื้นที่ผลิต RDF 21 แห่ง ใน 15 จังหวัด พบว่ามีการลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท เงินทุนหมุนเวียนสู่ชุมชน 570 ล้านบาท สามารถคืนทุนได้ในเวลา 10-13 ปี
  6. ราคาขายของ RDF เริ่มต้นตันละ 500-1,200 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพและค่าความร้อนของ RDF (ปกติอยู่ระหว่าง 3,000-5,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม)




ภาพกิจกรรม


แชร์หน้านี้